หมวดหมู่: ไฟฟ้า ลม โซลาร์

FITCH12 14


ฟิทช์ ประกาศจัดอันดับเครดิต กฟผ. ครั้งแรกที่ BBB+ แนวโน้มเครดิตมีเสถียรภาพ

      ฟิทช์ เรทติ้งส์ – สิงคโปร์/กรุงเทพ – 30 ธันวาคม 2563: ฟิทช์ เรทติ้งส์ประกาศจัดอันดับเครดิตสากลระยะยาวสกุลเงินต่างประเทศ (International Long-Tern Foreign-Currency Issuer Default Rating)  ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย หรือ กฟผ. ที่ระดับ ‘BBB+’ แนวโน้มเครดิตมีเสถียรภาพ

        นอกจากนี้ ฟิทช์ได้จัดอันดับเครดิตหนี้ที่ไม่มีหลักประกันและไม่ด้อยสิทธิของกฟผ. ที่ระดับ ‘BBB+’

        อันดับเครดิตของ กฟผ. สะท้อนถึงสถานะเครดิตโดยลำพัง (Standalone Credit Profile) ของกฟผ. ที่ระดับ ‘bbb+’ ซึ่งอยู่ในระดับเดียวกันกับอันดับเครดิตของประเทศไทย (‘BBB+’ แนวโน้มเครดิตมีเสถียรภาพ) ภายใต้หลักเกณฑ์การจัดอันดับเครดิตองค์กรที่มีความสัมพันธ์กับภาครัฐฯ (Government-Related Entities Rating Criteria) ของฟิทช์ ในกรณีที่สถานะเครดิตโดยลำพังของ กฟผ. ถูกปรับลดลง อันดับเครดิตของกฟผ. จะยังคงเท่ากับอันดับเครดิตของประเทศไทย  หากความสัมพันธ์ระหว่างกันยังคงเหมือนเดิม   

        สถานะเครดิตโดยลำพังของ กฟผ. สะท้อนถึงความเป็นผู้นำในธุรกิจไฟฟ้าในประเทศไทย โครงสร้างการกำกับดูแลธุรกิจไฟฟ้าที่มีเสถียรภาพและสนับสนุนการดำเนินงานของกฟผ. รวมถึงสถานะทางการเงินที่แข็งแกร่งของกฟผ. ผู้กำกับดูแลธุรกิจไฟฟ้าซึ่งได้แก่ คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ) จะมีการพิจารณาการปรับค่าไฟทุกๆ สี่เดือน ตามต้นทุนที่เปลี่ยนแปลงจากการผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าที่ควบคุมไม่ได้ โดยในช่วงระยะเวลามากกว่า 15 ปีที่ผ่านมา ผู้กำกับดูแลได้มีการปรับค่าไฟ ตามค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น แม้ว่าจะมีความล่าช้าในบางช่วง      

        ฟิทช์ มองว่าสถานะทางการเงินที่แข็งแกร่งของกฟผ. จะช่วยรองรับผลกระทบต่อกฟผ. ที่เกิดจากความล่าช้าในการปรับค่าไฟตามต้นทุนที่สูงขึ้น สถานะเครดิตโดยลำพังของ กฟผ. อาจจะมีการพิจารณาปรับเพิ่มขึ้น หากผู้กำกับดูแลแสดงให้เห็นว่าการปรับค่าไฟตามค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นเป็นไปโดยไม่มีความล่าช้าอย่างต่อเนื่อง

ปัจจัยที่มีผลต่ออันดับเครดิต

        ความสัมพันธ์กับภาครัฐฯ ในระดับสูง: ฟิทช์มองว่าสถานะความเป็นเจ้าของและการควบคุมของภาครัฐฯ ต่อกฟผ. อยู่ในระดับสูงมาก โดยรัฐบาลถือหุ้นทั้งหมดในกฟผ. เป็นผู้คัดเลือกและแต่งตั้งคณะกรรมการและผู้บริหารระดับสูง และอนุมัติการลงทุนของกฟผ. รวมถึงการอนุมัติการปรับค่าไฟตามค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นโดยผ่านทาง กกพ      

        ฟิทช์ มองว่าการสนับสนุนจากภาครัฐฯ ต่อกฟผ. อยู่ในระดับสูง แม้ว่าที่ผ่านมาไม่ได้มีการให้การสนับสนุนทางการเงิน เนื่องจากกฟผ. มีฐานะทางการเงินที่แข็งแกร่ง ฟิทช์ คาดว่าภาครัฐฯ น่าจะให้การสนับสนุนทางการเงินแก่กฟผ. ในกรณีที่กฟผ. มีความต้องการ เนื่องจากกฟผ. มีความสำคัญในเชิงกลยุทธ์และเป็นตัวจักรสำคัญในธุรกิจไฟฟ้าในประเทศไทย

        ผลกระทบจากการผิดนัดชำระหนี้อยู่ในระดับสูงมาก: ฟิทช์มองว่าผลกระทบต่อสังคมและการเมืองในกรณีที่กฟผ. ผิดนัดชำระหนี้อยู่ในระดับสูงมาก เนื่องจาก กฟผ. ไม่เพียงแต่เป็นผู้ผลิตไฟฟ้ารายใหญ่ของประเทศ โดยมีส่วนแบ่งร้อยละ 33 ของกำลังการผลิตไฟฟ้าทั้งหมดของประเทศ แต่ยังเป็นผู้รับซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนรายหลัก ซึ่งหากมีการผิดนัดชำระหนี้เกิดขึ้น จะส่งผลกระทบต่อ การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) และ การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) และจะส่งผลกระทบอย่างมากต่อการผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าซึ่งเป็นสาธารณูปโภคที่จำเป็นของประเทศ   

        กฟน. และ กฟภ. เป็นรัฐวิสาหกิจที่รับผิดชอบการจำหน่ายไฟฟ้าในประเทศไทย โดย กฟน. จำหน่ายไฟฟ้าให้กับประชาชนในพื้นที่สามจังหวัด ได้แก่ กรุงเทพฯ นนทบุรี และสมุทรปราการ ในส่วนพื้นที่เหลือเป็นความรับผิดชอบของ กฟภ.     ฟิทช์ มองว่า รัฐวิสาหกิจทั้งสามมีความสัมพันธ์กันอย่างใกล้ชิดมาก โดยตามระเบียบข้อบังคับจะแบ่งผลตอบแทนที่เหมาะสมให้แต่ละรัฐวิสาหกิจ และมีกลไกให้รัฐวิสาหกิจที่ได้รับผลตอบแทนที่ไม่เพียงพอได้รับการชดเชยจากรัฐวิสาหกิจที่ได้รับผลตอบแทนมากกว่า

        นอกจากนี้ ฟิทช์คาดว่าการผิดนัดชำระหนี้จะส่งผลกระทบทางการเงินต่อภาครัฐฯ อย่างมาก เนื่องจากฟิทช์มองว่า กฟผ. เป็นหนึ่งในตัวแทนภาครัฐฯ ในการกู้ยืมเงิน

        ฐานะทางธุรกิจที่มั่นคง คู่ค้าที่แข็งแกร่ง: กฟผ. เป็นเจ้าของและเป็นผู้ดูแลเครือข่ายสายส่งไฟฟ้าแรงสูงในประเทศไทย และเป็นผู้ผลิตไฟฟ้ารายใหญ่ของประเทศโดยมีส่วนแบ่งร้อยละ 33 ของกำลังการผลิตไฟฟ้าทั้งหมดของประเทศ กฟผ. จำหน่ายไฟฟ้าที่ผลิตได้และรับซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชน ให้กับ กฟน. กฟภ. และลูกค้าโดยตรงบ้างเล็กน้อย

        โครงสร้างการกำกับดูแลธุรกิจไฟฟ้าที่มีเสถียรภาพและสนับสนุนการดำเนินงาน: โครงสร้างในการทบทวนการปรับค่าไฟที่ใช้อยู่ ณ ปัจจุบันนี้ เริ่มต้นใช้มาตั้งแต่ปี 2534 โดยค่าไฟฐานที่เรียกเก็บจากการไฟฟ้าฯ เพื่อสะท้อนถึงต้นทุนในการผลิตและจำหน่ายไฟฟ้า รักษาฐานะทางการเงินของการไฟฟ้าฯ ทั้งสามให้มั่นคงและให้ผลตอบแทนที่เหมาะสม ลดการช่วยเหลือในกลุ่มลูกค้าที่แตกต่างกัน และโครงสร้างในการปรับค่าไฟที่หยืดหยุ่นและอัตโนมัติ

        ผู้กำกับดูแลมีการพิจารณาการปรับค่าไฟทุกๆ สี่เดือน ตามต้นทุนที่เปลี่ยนแปลงจากการผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าที่ควบคุมไม่ได้ อาทิ ต้นทุนเชื้อเพลิง และค่าเงินบาทที่เปลี่ยนแปลง อย่างไรก็ตาม ผู้กำกับดูแลมีแนวโน้มที่จะรักษาเสถียรภาพของค่าไฟ ตัวอย่างเช่น เมื่อต้นทุนเชื้อเพลิงเพิ่มขึ้นจะไม่ได้ถูกส่งผ่านโดยการปรับค่าไฟไปให้ผู้บริโภคทั้งหมดในทันที แต่จะค่อยๆ มีการปรับขึ้นหลังจากนั้น หรือไม่ปรับลดตามเมื่อต้นทุนเชื้อเพลิงลดลง เพื่อชดเชยให้กับการไฟฟ้าฯ ที่แบกรับภาระค่าไฟฟ้าดังกล่าวเอาไว้ ค่าไฟฐานจะมีการทบทวนทุกสามถึงห้าปี

        ฐานะทางการเงินที่แข็งแกร่ง: ฟิทช์คาดว่า กฟผ.จะมีกระแสเงินสดจากการดำเนินงานก่อนการเปลี่ยนแปลงของเงินทุนหมุนเวียน  (FFO) ประมาณหกหมื่นล้านบาทในปี 2564 ซึ่งน่าจะทำให้กฟผ. มีเงินสดจากการดำเนินงานประมาณแปดหมื่นแปดพันล้านบาท เนื่องจากลูกหนี้การค้าที่ลดลง

        กฟผ. จะมีค่าใช้จ่ายเพื่อการลงทุนเฉลี่ยปีละห้าหมื่นสี่พันล้านบาท ในช่วง 2-3 ปีข้างหน้า เพื่อขยายกำลังการผลิตไฟฟ้าและเครือข่ายสายส่ง   กฟผ. จะต้องมีการกู้ยืมเงินเพื่อการลงทุนในปี 2563 แต่สถานะทางการเงินจะยังคงแข็งแกร่งอยู่ โดยมีอัตราส่วน FFO net leverage ต่ำกว่า 1.5 เท่า (ปี 2562 อยู่ที่ 0.7 เท่า) และมีอัตราส่วน  FFO interest cover มากกว่า 8 เท่า (ปี 2562 อยู่ที่ 11 เท่า)

        ผลกระทบจาก Covid-19: ฟิทช์คาดว่าปริมาณการขายไฟฟ้าในประเทศไทยจะลดลงประมาณร้อยละ 4 ในปี 2563 เนื่องจากผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโคโรน่าไวรัสที่มีต่อภาคการส่งออกและการท่องเที่ยว  รัฐบาลยังได้อนุมัติให้ผู้ใช้ไฟฟ้ารายเล็กที่มีการใช้ไฟฟ้าน้อย ได้ใช้ไฟฟ้าฟรี และลดค่าไฟฟ้าลงร้อยละ 3 สำหรับผู้ใช้ไฟฟ้าที่เหลือ  นอกจากนี้ รัฐบาลยังอนุญาติให้ผู้ใช้ไฟฟ้าเลื่อนการชำระค่าไฟได้หกเดือน

        กฟผ. คาดว่าลูกหนี้การค้าจะอยู่ในระดับปกติในปีนี้ อย่างไรก็ตาม ฟิทช์ประมาณการผลการดำเนินการของกฟผ. โดยคาดว่าระยะเวลาลูกหนี้การค้าของกฟผ. จะเพิ่มเป็น 60 วันในปี 2563 ก่อนจะลดลงมาอยู่ในระดับปกติที่ 40 วันในปี 2564

การกำหนดอันดับเครดิตโดยสรุป

        PT Perusahaan Listrik Negara (Persero) (PLN, อันดับเครดิต ‘BBB’ แนวโน้มเครดิตมีเสถียรภาพ) และ Korea Electric Power Corporation (KEPCO, อันดับเครดิต ‘AA-’ แนวโน้มเครดิตมีเสถียรภาพ) มีธุรกิจที่มีลักษณะใกล้เคียงกับกฟผ. เนื่องจากเป็นผู้ประกอบการเพียงรายเดียวในธุรกิจสายส่งและจำหน่ายไฟฟ้า และเป็นผู้ผลิตไฟฟ้ารายใหญ่ในประเทศของตัวเอง

      อันดับเครดิตของ PLN และ KEPCO อยู่ในระดับเดียวกับอันดับเครดิตของประเทศตัวเอง – ประเทศอินโดนีเซีย (อันดับเครดิต ‘BBB’ แนวโน้มเครดิตมีเสถียรภาพ) และประเทศเกาหลี (อันดับเครดิต ‘AA-’ แนวโน้มเครดิตมีเสถียรภาพ) ภายใต้หลักเกณฑ์การจัดอันดับเครดิตองค์กรที่มีความสัมพันธ์กับภาครัฐฯ ของฟิทช์  

        ฟิทช์ มองว่า ความสัมพันธ์กับภาครัฐฯ และผลกระทบทางการเงินและผลกระทบต่อสังคมและการเมืองในกรณีที่ผิดนัดชำระหนี้ ซึ่งเป็นปัจจัยในการสนับสนุนแรงจูงใจในการสนันสนุนของ PLN อยู่ในระดับสูงมาก ฟิทช์ ประเมินแรงจูงใจในการสนันสนุน ของ KEPCO อยู่ในระดับสูงมากเช่นกัน แต่สถานะความเป็นเจ้าของและการควบคุมของภาครัฐฯ และการสนับสนุนจากภาครัฐฯ ต่อ KEPCO อยู่ในระดับสูง  ในขณะที่ ฟิทช์มองว่าสถานะความเป็นเจ้าของและการควบคุมของภาครัฐฯ และผลกระทบจากการผิดนัดชำระหนี้ของกฟผ. อยู่ในระดับสูงมาก และการสนับสนุนจากภาครัฐฯ อยู่ในระดับสูง

        ฟิทช์ มองว่า การสนับสนุนจากภาครัฐฯ ของ PLN อยู่ในระดับสูงมาก เนื่องจากบริษัทดำเนินการภายใต้โครงสร้างอุตสาหรรมที่แสดงให้เห็นว่าบริษัทสามารถส่งผ่านต้นทุนที่เปลี่ยนแปลงไปยังค่าไฟฟ้าได้อย่างต่อเนื่อง โดยหากมีภาระค่าไฟที่ PLN ต้องแบกรับจากการที่บริษัทไม่สามารถส่งผ่านต้นทุนที่เพิ่มขึ้นผ่านค่าไฟฟ้าได้ บริษัทจะได้รับการชดเชยจากภาครัฐฯ โดยหาก PLN ไม่ได้รับการชดเชยดังกล่าว บริษัทจะมีผลการดำเนินงานขาดทุน  

        ในขณะที่ ฟิทช์ มองว่า สถานะความเป็นเจ้าของและการควบคุมของภาครัฐฯ ของ KEPCO อยู่ในระดับสูง เนื่องจากรัฐบาลถือหุ้นทั้งทางตรงและทางอ้อมเพียงร้อยละ 51  รัฐบาลเป็นผู้แต่งตั้งคณะกรรมการและผู้บริหารระดับสูงของบริษัทฯ แต่การกำกับดูแลการดำเนินงานค่อนข้างอยู่ในระดับปกติทั่วไป

สมมุติฐานที่สำคัญ

สมมุติฐานที่สำคัญของฟิทช์ที่ใช้ในการประมาณการ

- ปริมาณการขายไฟฟ้าลดลงประมาณร้อยละ 4 ในปี 2563 และเพิ่มขึ้นร้อยละ 2 ในปี 2564

- การปรับค่าไฟ ปรับตามการเปลี่ยนแปลงของต้นทุนเชื้อเพลิง

- ค่าไฟฐานเพิ่มขึ้น 4 สตางค์ต่อหน่วย ในปี 2566

- อัตราดอกเบี้ยจากการกู้ยืมอยู่ที่ร้อยละ 3-4

- ระยะเวลาลูกหนี้การค้าเพิ่มเป็น 60 วันในปี 2563 ก่อนจะลดลงมาอยู่ในระดับปกติที่ 40 วันในปี 2564

- เงินปันผลรับสุทธิปีละ 4-5 พันล้านบาท

- ค่าใช้จ่ายเพื่อการลงทุน 5.2 หมื่นล้านบาทในปี 2563, 5.3 หมื่นล้านบาทในปี 2564 และ 5.8 หมื่นล้านบาทในปี 2565

- จ่ายปันผลร้อยละ 45-55 ของกำไรสุทธิปีก่อนหน้า

ปัจจัยที่อาจมีผลกระทบต่ออันดับเครดิต

ปัจจัยบวก

- การปรับเพิ่มอันดับเครดิตประเทศไทย หากความสัมพันธ์ระหว่างบริษัทฯ กับประเทศไม่เปลี่ยนแปลง

ปัจจัยลบ

- การปรับลดอันดับเครดิตประเทศไทย

ปัจจัยที่อาจมีผลกับอันดับเครดิตในอนาคตของประเทศไทย ตามรายงานลงวันที่ 29 ตุลาคม 2563

ปัจจัยบวก:

- ความต่อเนื่องของการเติบโตทางเศรษฐกิจ โดยไม่ทำให้เกิดหนี้ภาคครัวเรือนเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ

- การบรรเทาลงของความกดดันทางการเมืองและสังคม เช่นสะท้อนโดยประสิทธิภาพในการดำเนินนโยบายภาครัฐในการบริหารประเทศที่ดีขึ้น และดัชนีชี้วัดทางเศรษฐกิจที่ดีขึ้น หรือเสถียรภาพทางการเมืองที่ต่อเนื่อง

ปัจจัยลบ:

- การเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องของอัตราส่วนหนี้สินของรัฐบาลเมื่อเทียบกับประเทศที่มีอันดับเครดิตเดียวกัน เช่น เนื่องจากฐานะทางการคลังที่แย่ลง หรือการเพิ่มขึ้นอย่างมากของหนี้สาธารณะที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต (contingent liabilities)

- ความไม่มั่นคงทางการเมืองที่เกิดขึ้นใหม่ในระดับที่มีผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อเศรษฐกิจของประเทศ

สภาพคล่อง

        สภาพคล่องที่เพียงพอ: ฟิทช์คาดว่า กฟผ.จะมีกระแสเงินสดจากการดำเนินงานก่อนการเปลี่ยนแปลงของเงินทุนหมุนเวียน 6.1 หมื่นล้านบาทในปี 2563 แต่จะมีเงินสดจากการดำเนินงานเพียง 2.6 หมื่นล้านบาท เนื่องจากลูกหนี้การค้าที่เพิ่มขึ้น    

        กฟผ. จะต้องมีการกู้ยืมเงินเพื่อการลงทุนในปี 2563 ซึ่งคาดว่าอยู่ที่ 6.3 หมื่นล้านบาทซึ่งรวมการลงทุนในการเข้าซื้อกิจการ  สภาพคล่องของ กฟผ. ได้รับการสนับสนุนจากการที่กฟผ. มีสถานะทางการเงินที่แข็งแกร่ง และมีความสามารถในการกู้ยืมในระดับสูงเนื่องจากมีความสัมพันธ์กับภาครัฐฯ

        ฟิทช์ คาดว่า กฟผ.จะมีเงินสดประมาณ 5.9 หมื่นล้านบาท ณ สิ้นในปี 2563 (ณ  มิถุนายน ปี 2563 อยู่ที่ 6.1 หมื่นล้านบาท) เมื่อเทียบกับหนี้ที่จะครบกำหนดชำระในปี 2564 ที่หนึ่งหมื่นล้านบาท กฟผ. ยังมีภาระที่จะต้องชำระค่าไฟที่รับซื้อจากผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนในส่วนที่เป็น Capacity payment ตามที่กำหนด ซึ่งไม่ขึ้นอยู่กับปริมาณไฟฟ้าที่รับซื้อ (ในปี 2562 อยู่ที่ 4.5 หมื่นล้านบาท)

ติดต่อ

Primary Analyst

Rachna Jain

Director

+65 6796 7227

Fitch Ratings Singapore Pte Ltd.

One Raffles Quay #22-11, South Tower Singapore 048583

Secondary Analyst

เลิศชัย กอเจริญรัตนกุล

Senior Director

+662 108 0158

Committee Chairperson

Muralidharan Ramakrishnan

Senior Director

+65 6796 7236

ข้อมูลเพิ่มเติมหาได้ที่ www.fitchratings.com

COREHOON

******************************************

line logotwitterLike1 Share3Like1 Share1กด Like - Share  เพจ Corehoon-Power Time เพื่อติดตามเคล็ดลับ ข่าวสาร เทรนด์ และบทวิเคราะห์ดีๆ อัพเดตทุกวัน คัดสรรมาเพื่อท่านนักลงทุนโดยเฉพาะ

 Click Donate Support Web

FBS728

EXNESS

SAM720x100px bgGC 790x90

SME720 x 100banpu 720x90 new1 1

ooKbee1

corehoon NEW2

 

 

ข่าวล่าสุด!!