หมวดหมู่: อสังหาริมทรัพย์ฯ

TRIS7 23


ทริสเรทติ้ง  เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เพื่อเช่า

ภาพรวมและขอบเขตของเกณฑ์การจัดอันดับเครดิต

       เกณฑ์ในการจัดอันดับเครดิตนี้ใช้สำหรับองค์กรหรือหน่วยงานที่มีผลการดำเนินงานส่วนใหญ่ (มากกว่าสองในสาม) มาจากรายได้ค่าเช่า ตัวอย่างเช่น กองทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ (Real Estate Investment Trusts – REIT หรือกองทรัสต์) หรือบริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์เพื่อการพาณิชย์ ซึ่งในบทความฉบับนี้จะเรียกองค์กรหรือหน่วยงานเหล่านี้โดยรวมว่าเป็นบริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์เพื่อเช่า (Real Estate for Rent Companies -- RERCs) ทั้งนี้ เกณฑ์ดังกล่าวนี้จะไม่ใช้กับกองทรัสต์หรือบริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์เพื่อการพาณิชย์บางประเภทที่ต้องมีการประกอบธุรกิจเป็นส่วนใหญ่ เช่น โรงแรมและศูนย์ดูแลผู้สูงอายุ (Nursing Home) เกณฑ์นี้ใช้แทนเกณฑ์การจัดอันดับเครดิต กองทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์” (Real Estate Investment Trust) ที่ทริสเรทติ้งเผยแพร่ไปเมื่อวันที่ 12 ตุลาคม 2559 ด้วย

เกณฑ์การจัดอันดับเครดิต

     ในการจัดอันดับเครดิตให้แก่บริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์เพื่อเช่านั้น ทริสเรทติ้ง ยึดกรอบโครงสร้างการจัดอันดับเครดิตแบบเดียวกับการจัดอันดับเครดิตองค์กรของธุรกิจทั่วไป  โดยขั้นตอนการจัดอันดับเครดิตจะเริ่มจากการประเมินอันดับเครดิตเบื้องต้น (Anchor Rating) ของบริษัทแล้วนำปัจจัยอื่นที่มีผลต่ออันดับเครดิต (Other Credit Considerations – OCCs) มาปรับเพิ่มขึ้นหรือลดลงเพื่อให้ได้อันดับเครดิตเฉพาะของบริษัท (Standalone Credit Profile -- SACP)  จากนั้นในขั้นตอนสุดท้าย หากบริษัทดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มบริษัท อันดับเครดิตเฉพาะของบริษัทอาจได้รับการปรับเพิ่มขึ้นหรืออาจถูกจำกัดไว้ที่อันดับเครดิตของกลุ่มซึ่งเป็นไปตาม “เกณฑ์ในการจัดอันดับเครดิตกลุ่มธุรกิจ” (Group Rating Methodology) ของทริสเรทติ้ง เพื่อให้ได้อันดับเครดิตองค์กรของบริษัท (Issuer Credit Rating – ICR)

     อันดับเครดิตเบื้องต้นจะได้จากการวิเคราะห์ความเสี่ยงด้านธุรกิจร่วมกับความเสี่ยงด้านการเงิน โดยความเสี่ยงด้านธุรกิจจะประเมินจากการพิจารณาความเสี่ยงของอุตสาหกรรม ความสามารถในการแข่งขัน รวมถึงระดับและควาผันผวนของความสามารถในการทำกำไรของบริษัท สำหรับความเสี่ยงด้านอุตสาหกรรมของบริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์เพื่อเช่านั้นจัดว่าค่อนข้างต่ำเนื่องจากมีความผันผวนของรายได้และกำไรอยู่ในระดับปานกลาง ในขณะที่ความเสี่ยงด้านการแข่งขันนั้นอยู่ในระดับค่อนข้างต่ำ สำหรับบริษัทที่ประกอบธุรกิจนอกประเทศไทยนั้น ทริสเรทติ้งจะพิจารณาถึงผลกระทบที่เกิดจากความเสี่ยงทางด้านเศรษฐกิจ ความเสี่ยงด้านระบบการเงิน รวมถึงความเสี่ยงด้านกฎระเบียบของประเทศที่บริษัทนั้นประกอบธุรกิจอยู่ด้วย

      ในส่วนของความสามารถในการแข่งขันนั้น ทริสเรทติ้งจะพิจารณาความได้เปรียบในการแข่งขัน ขนาดและความหลากหลายของสินทรัพย์ รวมถึงประสิทธิภาพในการดำเนินงานของบริษัท สำหรับบริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์เพื่อเช่านั้น ทริสเรทติ้งจะให้น้ำหนักไปที่ความได้เปรียบในการแข่งขันรวมถึงขนาดและความหลากหลายของสินทรัพย์มากกว่าประสิทธิภาพในการดำเนินงาน สำหรับการประเมิน

        ระดับและความผันผวนของความสามารถในการทำกำไรนั้นทริสเรทติ้งจะให้ความสำคัญกับอัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงานก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายต่อรายได้ (อัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงาน) และอัตราส่วนผลตอบแทนต่อเงินทุนถาวรของบริษัท

       ในส่วนของการวิเคราะห์ความเสี่ยงด้านการเงินนั้น ทริสเรทติ้งจะเน้นที่การวิเคราะห์อัตราส่วนทางการเงินที่เกี่ยวข้องกับกระแสเงินสดและภาระหนี้อย่างเช่น อัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อกำไรจากการดำเนินงานก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่าย อัตราส่วนกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายต่อดอกเบี้ยจ่าย อัตราส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานต่อหนี้สินทางการเงิน และอัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อแหล่งเงินทุน เป็นต้น ซึ่งโดยทั่วไปแล้ว ทริสเรทติ้งจะวิเคราะห์อัตราส่วนทางการเงินโดยใช้ข้อมูลในอดีตย้อนหลัง 2 ปี รวมถึงข้อมูลในปีปัจจุบัน และข้อมูลในอนาคตจากการประมาณการอีกอย่างน้อย 2 ปี โดยทริสเรทติ้งจะให้น้ำหนักไปที่ข้อมูลในปัจจุบันและข้อมูลประมาณการมากกว่า

      ในการกำหนดอันดับเครดิตให้แก่กองทรัสต์นั้น ทริสเรทติ้งจะประเมินเรื่องความสามารถของกองทรัสต์ในการปฏิบัติให้เป็นไปตามเกณฑ์ข้อกำหนดของคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เพื่อให้คงสถานะของกองทรัสต์ไว้ด้วย โดยภายใต้เกณฑ์ของ ก..ต. นั้น กองทรัสต์จะต้องมีรายได้จากการให้ผู้อื่นเช่าหรือเช่าช่วงอสังหาริมทรัพย์ของกองทรัสต์โดยที่กองทรัสต์ไม่ได้เป็นผู้ประกอบกิจการโดยตรง ในกรณีที่รายได้จากค่าเช่าของกองทรัสต์ขึ้นอยู่กับผลการดำเนินงานของผู้เช่าซึ่งเรียกว่าค่าเช่าแปรผัน (Variable Rent) นั้น รายได้ค่าเช่าแปรผันจะต้องไม่เกิน 50% ของค่าเช่าคงที่ (Fixed Rent)  นอกจากนี้ กองทรัสต์จะต้องจ่ายเงินปันผลไม่น้อยกว่า 90% ของกำไรที่มีการปรับปรุงแล้ว โดยกองทรัสต์ที่เข้าเกณฑ์ข้อบังคับจะได้รับการยกเว้นไม่ต้องเสียภาษีรายได้นิติบุคคล

กรอบโครงสร้างการจัดอันดับเครดิต (Rating Framework)

ความเสี่ยงด้านอุตสาหกรรม

(Industry Risk)

ความเสี่ยงด้านธุรกิจ

(Business Risk Profile)

อันดับเครดิตเบื้องต้น

(Anchor Rating)

+/-

ปัจจัยอื่น ๆ ที่มีผลต่ออันดับเครดิต:

=

อันดับเครดิตเฉพาะของบริษัท (Standalone Credit Profile)

ความสามารถในการแข่งขัน

(Competitive Position)

·    การบริหารงานและธรรมาภิบาล (Management & Governance)

ความสามารถในการทำกำไร
(Profitability)

·    สภาพคล่อง (Liquidity)

กระแสเงินสดและภาระหนี้

(Cash Flow & Leverage)

ความเสี่ยงด้านการเงิน

(Financial Risk Profile)

·    ความยืดหยุ่นทางการเงิน (Financial Flexibility)

·    ความหลากหลายของประเภทธุรกิจ (Diversification)

·    อื่น ๆ (ถ้ามี)

อันดับเครดิตเฉพาะขององค์กร (Standalone Credit Profile)

+/-

อันดับเครดิตของกลุ่ม

 (Group Credit Profile) (ถ้ามี)

=

อันดับเครดิตองค์กร

(Issuer Credit Rating)

  1. ความเสี่ยงด้านธุรกิจ (BUSINESS RISK PROFILE) 

ในการวิเคราะห์ความเสี่ยงด้านธุรกิจนั้น ทริสเรทติ้งจะทำการประเมินความเสี่ยงด้านอุตสาหกรรม (Industry Risk) รวมไปถึงความสามารถในการแข่งขัน (Competitive Position) ของบริษัทนั้น ๆ โดยเปรียบเทียบกับคู่แข่งที่อยู่ในอุตสาหกรรมเดียวกัน ตลอดจนประเมินความสามารถในการสร้างผลกำไรและความผันผวนของระดับกำไรของบริษัทดังกล่าว โดยความสามารถในการแข่งขันนั้นจะวัดจากความได้เปรียบในการแข่งขัน ขนาดและความหลากหลายของสินทรัพย์ รวมไปถึงประสิทธิภาพในการดำเนินงาน

  • การวิเคราะห์ความเสี่ยงด้านอุตสาหกรรม (Industry Risk Analysis)

ทริสเรทติ้งประเมินให้ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เพื่อเช่าเป็นธุรกิจที่มี “ความเสี่ยงต่ำ” เนื่องจากผลการดำเนินงานของบริษัทในกลุ่มนี้มาจากการให้เช่าสินทรัพย์ซึ่งมักมีอายุการเช่านานกว่า 1 ปี ทั้งนี้ จากข้อมูลในอดีตพบว่าความผันผวนของรายได้และกำไรของบริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์เพื่อเช่าในช่วงที่เศรษฐกิจชะลอตัวนั้นอยู่ในระดับปานกลางแต่อาจมีความแตกต่างกันไปบ้างตามประเภทของอสังหาริมทรัพย์ โดยอสังหาริมทรัพย์เพื่อเช่าประเภทหลัก ๆ ได้แก่ อาคารสำนักงาน ห้างสรรพสินค้า โกดังสินค้า โรงงานให้เช่า และเซอร์วิสอพาร์ตเมนท์  ทั้งนี้ เหตุการณ์ที่อาจส่งผลกระทบในเชิงลบอย่างเช่นการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โรค
โควิด 19) อาจจะทำให้ผลการดำเนินงานของบริษัทอสังหาริมทรัพย์เพื่อเช่าประเภทอาคารสำนักงานและห้างสรรพสินค้าได้รับแรงกดดันมากกว่าสินทรัพย์ประเภทอื่นอันเนื่องมาจากการเปลี่ยนรูปแบบวิถีชีวิตของประชาชนมาเป็นการทำงานจากบ้าน รวมทั้งการประชุมและการซื้อสินค้าทางออนไลน์เพิ่มมากขึ้น นอกจากนี้ พื้นที่อาคารสำนักงานที่จะเพิ่มขึ้นในระยะปานกลางก็อาจทำให้เกิดอุปทานส่วนเกินสำหรับพื้นที่อาคารสำนักงานซึ่งจะส่งผลให้เกิดความกดดันในเรื่องของอัตราการเช่าและการปรับค่าเช่าในระยะใกล้และระยะปานกลางอีกด้วย แต่ในทางตรงกันข้าม โกดังให้เช่ามีแนวโน้มที่จะได้รับประโยชน์จากอุปสงค์ที่เพิ่มขึ้นในการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (E-commerce) และการซื้อสินค้าออนไลน์

สำหรับความรุนแรงของการแข่งขันในอุตสาหกรรมนั้นถือว่าอยู่ในระดับค่อนข้างต่ำเนื่องจากการเข้ามาของผู้ประกอบการรายใหม่มีความยากในระดับปานกลางในขณะที่ความเสี่ยงจากการถูกทดแทนยังถือว่าน้อยในขณะที่อัตรากำไรก็ค่อนข้างสม่ำเสมอ อย่างไร
ก็ตาม ธุรกิจนี้ต้องการเงินลงทุนที่ค่อนข้างสูงสำหรับการซื้อหรือก่อสร้างสินทรัพย์ใหม่และการบำรุงรักษาสินทรัพย์ที่มีอยู่ แม้ว่าในตลาดดังกล่าวจะมีผู้ประกอบการหลากหลาย แต่ก็มีผู้ประกอบการเพียงไม่กี่รายเท่านั้นที่มีสินทรัพย์ขนาดใหญ่และมีความหลากหลาย สำหรับแนวโน้มการเติบโตของอุตสาหกรรมถือว่าค่อนข้างมีเสถียรภาพ

  • ความสามารถในการแข่งขัน (Competitive Position)

ปัจจัยที่ใช้ในการประเมินความสามารถในการแข่งขันของบริษัทในกลุ่มนี้มีดังต่อไปนี้

  • ความได้เปรียบในการแข่งขัน (Competitive Advantage) 

       โดยทั่วไปแล้ว ความได้เปรียบในการแข่งขันมักมาจากคุณภาพของสินทรัพย์ ตลอดจนสถานะทางการตลาดของบริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์เพื่อเช่า รวมถึงความสามารถและประสบการณ์ของผู้บริหารในการสร้างการเติบโต รวมทั้งการจับจังหวะการลงทุนและการขายสินทรัพย์ได้อย่างเหมาะสม อย่างไรก็ตาม ความได้เปรียบในการแข่งขันของผู้ประกอบการก็อาจแตกต่างกันไปตามลักษณะของสินทรัพย์แต่ละประเภท ตัวอย่างเช่น อุปสงค์ของอาคารสำนักงานหรืออพารต์เมนท์จะขึ้นอยู่กับทำเลที่ตั้งและคุณภาพของอาคารมากกว่าแบรนด์ ในขณะที่อุปสงค์ของพื้นที่ห้างสรรพสินค้านอกจากจะขึ้นอยู่กับทำเลที่ตั้งแล้ว แบรนด์และโครงข่ายธุรกิจ (Franchise Network) ก็มีความสำคัญด้วยเช่นกัน

       โดยทั่วไปคุณภาพของสินทรัพย์นั้นมักจะขึ้นอยู่กับทำเลที่ตั้ง อายุ และสภาพของสินทรัพย์นั้น ๆ โดยสินทรัพย์ที่มีคุณภาพดีก็คาดว่าจะมีอัตราการเช่าและค่าเช่าที่สูงกว่าคู่แข่ง ทั้งนี้ สถานะทางการตลาดของบริษัทจะสะท้อนถึงความสามารถในการหาและรักษาผู้เช่าที่มีคุณภาพดีเอาไว้ได้ในขณะที่ยังคงความสามารถในการกำหนดอัตราค่าเช่าและการทำกำไรเอาไว้ได้ นอกจากนี้ ความสามารถของบริษัทในการรักษาหรือเพิ่มส่วนแบ่งทางการตลาดท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวหรือภาวะแวดล้อมทางการแข่งขันในตลาดที่อยู่ในระดับสูงก็เป็นปัจจัยชี้วัดที่สำคัญในเรื่องความได้เปรียบทางการแข่งขันของบริษัท ในขณะเดียวกัน ทริสเรทติ้งยังพิจารณารวมไปถึงผลงานในอดีตของผู้บริหารรวมถึงกลยุทธ์ทางธุรกิจในการนำพาให้บริษัทเติบโตและอยู่รอดได้ในช่วงที่เศรษฐกิจชะลอตัวอีกด้วย

สำหรับปัจจัยชี้วัดความได้เปรียบในการแข่งขันของบริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์เพื่อเช่านั้น ทริสเรทติ้งจะพิจารณาจากปัจจัยสำคัญต่าง ๆ ดังนี้ 1) อัตราการเช่า 2) อัตราค่าเช่าที่ได้และกำไรสุทธิจากการดำเนินงานโดยเปรียบเทียบกับคู่แข่ง 3) ส่วนแบ่งทางการตลาด และ 4) สัดส่วนการต่ออายุสัญญาเช่าของผู้เช่าเดิม

  • ขนาดและความหลากหลายของสินทรัพย์ (Size and Diversity of Assets)

ในการประเมินขนาดสินทรัพย์ของบริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์เพื่อเช่านั้น ทริสเรทติ้งจะพิจารณาจากมูลค่าตลาด (Fair Market Value) และจำนวนของสินทรัพย์ ส่วนความหลากหลายของสินทรัพย์นั้นทริสเรทติ้งจะพิจารณาที่ประเภทของสินทรัพย์ รวมถึงทำเลที่ตั้ง และผู้เช่า ทั้งนี้ ผู้ประกอบการที่มีขนาดเล็กหรือผู้ประกอบการที่มีจำนวนสินทรัพย์ ทำเลที่ตั้ง หรือผู้เช่าที่ไม่หลากหลายมักจะมีรายได้ค่อนข้างผันผวนกว่าในยามที่ภาวะเศรษฐกิจไม่เอื้ออำนวย หรือในกรณีที่สินทรัพย์ใดสินทรัพย์หนึ่งเกิดความเสียหายร้ายแรง หรือมีการสูญเสียผู้เช่าหลัก ในทางตรงกันข้าม ผู้ประกอบการรายใหญ่ที่มีสินทรัพย์หลายประเภทอยู่ในทำเลต่าง ๆ กันมักจะมีอำนาจในการต่อรองและมีทางเลือกให้แก่ผู้เช่าที่มากกว่า นอกจากนี้ ความหลากหลายของสินทรัพย์ยังช่วยให้กระแสรายได้มีความสม่ำเสมอและช่วยลดผลกระทบในเชิงลบที่เกิดจากการชะลอตัวของบางธุรกิจหรือบางทำเลอีกด้วย ทั้งนี้ การกระจุกตัวของสัญญาเช่าที่หมดอายุในบางปีก็เป็นสิ่งที่ต้องพิจารณาด้วยเช่นกัน

  • ประสิทธิภาพในการดำเนินงาน (Operating Efficiency)

ความสามารถในการควบคุมต้นทุนการดำเนินงานและค่าบำรุงรักษาสินทรัพย์ก็เป็นปัจจัยที่สำคัญอีกประการหนึ่ง ผู้ประกอบการที่มีต้นทุนในการดำเนินงานที่ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยทั่วไปก็จะสามารถลดค่าเช่าเพื่อดึงดูดผู้เช่าให้มาเช่าได้มากขึ้นในช่วงที่เศรษฐกิจชะลอตัว โดยทั่วไปแล้ว ผู้ประกอบการรายใหญ่มักจะได้ประโยชน์จากการประหยัดจากขนาด (Economy of Scale) เนื่องจากมีสินทรัพย์หลายแห่งที่สามารถแบกรับต้นทุนค่าใช้จ่ายส่วนกลางร่วมกันได้

สำหรับบริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์เพื่อเช่าที่มีสินทรัพย์ที่อยู่ระหว่างการพัฒนานั้น ความสามารถในการก่อสร้างโครงการให้อยู่ภายในงบประมาณและเสร็จตรงเวลาถือว่าเป็นปัจจัยที่สำคัญ อย่างไรก็ดี สำหรับกองทรัสต์ในประเทศไทยมักจะมีความเสี่ยงในด้านการพัฒนาโครงการที่ค่อนข้างต่ำเนื่องจากมีข้อจำกัดตามเกณฑ์ของ ก..ต. โดยเกณฑ์ของ ก.ล.ต. กำหนดให้การลงทุนของกองทรัสต์ในโครงการที่อยู่ในระหว่างการพัฒนาซึ่งหมายรวมถึงต้นทุนการซื้อสินทรัพย์และต้นทุนการพัฒนาโครงการนั้นจะต้องมีมูลค่าไม่เกิน 10% ของสินทรัพย์รวมของกองทรัสต์นั้น ๆ ซึ่งทำให้ความเสี่ยงที่เกิดจากการพัฒนาโครงการของกองทรัสต์มีน้อยกว่าบริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์เพื่อเช่าประเภทอื่น อย่างไรก็ตาม บริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์เพื่อเช่าทั่วไปสามารถลดความเสี่ยงในการพัฒนาได้โดยการทำสัญญาเช่าล่วงหน้ากับผู้เช่ารายหลัก ๆ ที่มีความพร้อมที่จะเข้าเช่าพื้นที่ได้ทันทีที่โครงการสร้างเสร็จสมบูรณ์

  • ความสามารถในการทำกำไร (Profitability) 

ในการวิเคราะห์ความสามารถในการทำกำไรของบริษัทนั้น ทริสเรทติ้งจะพิจารณาทั้งระดับของอัตรากำไรและความสม่ำเสมอของอัตรากำไรของบริษัทโดยเปรียบเทียบกับคู่แข่งที่มีสินทรัพย์ประเภทเดียวกัน โดยอัตรากำไรของบริษัทที่สูงกว่าค่าเฉลี่ยอุตสาหกรรมอาจหมายถึงความได้เปรียบในการแข่งขันที่เหนือกว่าคู่แข่งและ/หรือความสามารถในการควบคุมต้นทุนที่ดีกว่าผู้ประกอบการราย อื่น ๆ สำหรับผู้ประกอบการบางรายที่ใช้กลยุทธ์ทางด้านราคาเพื่อให้ได้ส่วนแบ่งทางการตลาดเพิ่มขึ้น แม้รายได้ของบริษัทดังกล่าวจะเพิ่มขึ้น แต่อัตรากำไรก็อาจไม่ได้เพิ่มไปในทิศทางเดียวกัน นอกจากนี้ การที่ความสามารถในการทำกำไรลดลงก็อาจแสดงให้เห็นถึงการสูญเสียความสามารถในการแข่งขันหรือสภาพแวดล้อมทางธุรกิจที่เปลี่ยนแปลงไปซึ่งอาจเกิดจากการมีอุปทานส่วนเกินหรือการมีอุปสงค์ที่ลดลงก็ได้

อัตราส่วนที่ใช้วัดความสามารถในการทำกำไรของบริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์เพื่อเช่า ได้แก่ อัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงาน และอัตราส่วนผลตอบแทนต่อเงินทุนถาวร อย่างไรก็ดี ทั้ง 2 อัตราส่วนก็มีข้อจำกัดในการวัดความสามารถในการทำกำไรของบริษัท ทั้งนี้ การที่อายุสัญญาเช่าแตกต่างกันทำให้อัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงานที่สูงกว่าอาจจะไม่สะท้อนว่าบริษัทมีความสามารถในการทำกำไรที่สูงกว่าเนื่องจากบริษัทอาจมีอัตราส่วนผลตอบแทนต่อเงินทุนถาวรที่ต่ำกว่าก็ได้ ในขณะที่อัตราส่วนผลตอบแทนต่อเงินทุนถาวรก็อาจมีความผันผวนตามมูลค่าตลาดของสินทรัพย์ได้ ดังนั้น ในการพิจารณาความสามารถในการทำกำไร ทริสเรทติ้งจะทำการพิจารณาอัตราส่วนทั้ง 2 ด้านของบริษัทโดยนำมาเปรียบเทียบกับบริษัทที่มีความใกล้เคียงกันในแง่ของประเภทของสินทรัพย์ อายุสัญญาเช่า และตลาดที่ให้เช่า 

ตารางที่ 1 ระดับความสามารถในการทำกำไรโดยเฉลี่ย

ประเภทสินทรัพย์

อัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงาน

อัตราส่วนผลตอบแทนต่อเงินทุนถาวร

นิคมอุตสาหกรรม

75%-90%

5%-10%

อาคารสำนักงาน

60%-75%

ศูนย์การค้า

40%-80%

นอกเหนือจากระดับของความสามารถในการทำกำไรแล้ว ทริสเรทติ้งยังพิจารณาที่ความสม่ำเสมอของอัตรากำไรด้วย โดยบริษัทที่มีอัตรากำไรผันผวนน้อยกว่าจะถือว่าดีกว่าบริษัทที่มีอัตรากำไรสูงกว่าแต่มีความผันผวนมากกว่า  ทั้งนี้ การวัดความผันผวนของความสามารถในการทำกำไรจะคำนวณจากค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน (Standard Error of Regression – SER) ของอัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงานและ/หรือค่าเบี่ยงเบนมาตรฐานของอัตราส่วนผลตอบแทนต่อเงินทุนถาวร ซึ่งโดยทั่วไปแล้ว ทริสเรทติ้งจะใช้ข้อมูลรายปีย้อนหลังอย่างน้อย 7 ปีในการคำนวณค่าดังกล่าว

  1. ความเสี่ยงด้านการเงิน (FINANCIAL RISK PROFILE)

ในการประเมินความเสี่ยงด้านการเงินของบริษัทนั้น ทริสเรทติ้งจะเน้นที่การวิเคราะห์อัตราส่วนทางการเงินที่เกี่ยวข้องกับกระแสเงินสดและภาระหนีซึ่งโดยทั่วไปทริสเรทติ้งจะใช้ข้อมูลอัตราส่วนทางการเงินย้อนหลัง 2 ปี รวมทั้งข้อมูลในปีปัจจุบัน และตัวเลขอัตราส่วนที่ได้จากการประมาณการทางการเงินในอนาคตอย่างน้อย 2 ปีข้างหน้า โดยทริสเรทติ้งจะให้น้ำหนักกับตัวเลขในปัจจุบันและในอนาคตมากกว่า ทั้งนี้ อัตราส่วนทางการเงินสำคัญ ๆ ที่ทริสเรทติ้งใช้ในการวิเคราะห์ความเสี่ยงด้านการเงินของบริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์เพื่อเช่ามีดังนี้

  • อัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่าย (Debt to EBITDA Ratio)
  • อัตราส่วนกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายต่อดอกเบี้ยจ่าย (EBITDA Interest Coverage Ratio)
  • อัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อแหล่งเงินทุน (Debt to Capitalization Ratio)
  • อัตราส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานต่อหนี้สินทางการเงิน (Funds from Operations to Total Debt Ratio)

โดยทั่วไปแล้ว บริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์เพื่อเช่ามักจะมีการรายงานมูลค่าของสินทรัพย์โดยใช้วิธีมูลค่าตลาด ซึ่งมูลค่าตลาดจะสะท้อนถึงการเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อมของอุตสาหกรรมและอุปสงค์ของสินทรัพย์นั้น ๆ ซึ่งทำให้อัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อแหล่งเงินทุนเป็นอัตราส่วนที่สำคัญที่ใช้วัดภาระหนี้สินของบริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์เพื่อเช่า โดยการคำนวณอัตราส่วนทางการเงินทั้งหมดจะมีการปรับปรุงตัวเลขทางบัญชีที่เกี่ยวข้องแบบเดียวกับที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูลทางการเงินของธุรกิจทั่วไปซึ่งมีรายละเอียดอยู่ในบทความของทริสเรทติ้งเรื่อง “อัตราส่วนทางการเงินที่สำคัญและการปรับปรุงตัวเลขทางการเงิน” (Key Financial Ratios and Adjustments) ฉบับล่าสุด

นอกเหนือจากระดับของภาระหนี้ (Leverage Level) แล้ว ทริสเรทติ้งยังจะพิจารณาในเรื่องเกี่ยวกับระยะเวลาในการชำระคืนหนี้ ซึ่งโดยปกติควรจะสอดคล้องกับกระแสเงินสดที่คาดว่าจะได้รับด้วย ทั้งนี้ การก่อหนี้ระยะสั้นจำนวนมากสำหรับการลงทุนระยะยาวอาจก่อให้เกิดความเสี่ยงในด้านสภาพคล่อง (Liquidity Risk) หรือความเสี่ยงในการกู้ยืมใหม่เพื่อจ่ายคืนหนี้ที่ครบกำหนด (Refinancing Risk) สุดท้ายแล้ว ระดับความเสี่ยงด้านอัตราดอกเบี้ย (Interest rate Risk) ก็เป็นประเด็นที่ต้องคำนึงถึงด้วยสำหรับบริษัทที่มีหนี้สินระยะยาวส่วนใหญ่มีอัตราดอกเบี้ยแบบลอยตัว

  1. ปัจจัยอื่นๆ ที่มีผลต่ออันดับเครดิต (OTHER CREDIT CONSIDERATIONS – OCCs)

อันดับเครดิตเบื้องต้น (Anchor Rating) ที่ได้จากการประเมินสถานะความเสี่ยงด้านธุรกิจและสถานะความเสี่ยงด้านการเงินอาจจะได้รับการปรับเพิ่มขึ้นหรือลดลงด้วยปัจจัยอื่น ๆ (OCCs) ที่ไม่ได้รวมไว้ในการประเมินความเสี่ยงด้านธุรกิจและความเสี่ยงด้านการเงินในข้างต้น ตัวอย่างของปัจจัยอื่น ๆ ดังกล่าวอาจเกี่ยวเนื่องกับประเด็นดังต่อไปนี้ การบริหารงานและธรรมาภิบาล (Management & Governance) สภาพคล่อง (Liquidity Profile) ความยืดหยุ่นทางการเงิน (Financial Flexibility) ความหลากหลายของธุรกิจ (Diversification) หรือปัจจัยอื่น ๆ (ถ้ามี) โดยปัจจัยดังกล่าวมีลักษณะเหมือนกับปัจจัยที่กล่าวถึงในบทความเรื่อง “เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตธุรกิจทั่วไป” (Corporate Rating Methodology) ของทริสเรทติ้ง

ในการประเมินอันดับเครดิตให้แก่กองทรัสต์ในประเทศไทยนั้นทริสเรทติ้งจะให้ความสำคัญกับความยืดหยุ่นทางการเงินเนื่องจากเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องกำหนดให้กองทรัสต์จะต้องมีการจ่ายเงินปันผลที่อย่างน้อย 90% ของอัตรากำไรที่ปรับปรุงแล้ว แม้ว่ากองทรัสต์จะสามารถสำรองเงินสดไว้เพื่อการชำระหนี้ได้ แต่กองทรัสต์ส่วนใหญ่มักจะมีการสำรองเงินสดเอาไว้ไม่มากนักและมีการจ่ายปันผลอย่างสม่ำเสมอ ดังนั้น กองทรัสต์จึงมักจะอาศัยตลาดทุนหรือการกู้ยืมเงินจากธนาคารเพื่อนำมาจ่ายชำระคืนหนี้เดิม อย่างไรก็ดี ทริสเรทติ้งก็มองว่ากองทรัสต์ส่วนใหญ่มีความสามารถในการกู้ยืมเงินจากธนาคารได้ในยามจำเป็นโดยใช้สินทรัพย์ที่ไม่มีภาระผูกพันเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันการกู้ยืมซึ่งสินทรัพย์ที่ไม่มีภาระผูกพันถือเป็นแหล่งเสริมสภาพคล่องให้แก่กองทรัสต์ได้ในยามจำเป็น

  1. อันดับเครดิตของกลุ่มบริษัท (GROUP CREDIT PROFILE)

ในกรณีที่บริษัทที่ได้รับการจัดอันดับเครดิตเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มธุรกิจที่ใหญ่กว่า การประเมินความเสี่ยงของทั้งกลุ่มบริษัทก็อาจเป็นสิ่งที่จำเป็นหากการดำเนินธุรกิจและสถานะทางการเงินของบริษัทนั้นๆ มีความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกับกลุ่ม โดยอันดับเครดิตองค์กรของบริษัทอาจได้จากการที่อันดับเครดิตเฉพาะของบริษัทได้รับการปรับเพิ่มขึ้นจากการที่บริษัทเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มบริษัทที่มีความเข้มแข็งกว่า หรือในทางตรงกันข้าม อันดับเครดิตองค์กรของบริษัทอาจถูกจำกัดอยู่ในระดับที่ไม่เกินกว่าอันดับเครดิตของกลุ่มบริษัทหากกลุ่มบริษัทมีสถานะเครดิตที่มีความอ่อนแอกว่าบริษัท ทั้งนี้ โปรดดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ในบทความของทริสเรทติ้งเรื่อง เกณฑ์ในการจัดอันดับเครดิตของกลุ่มบริษัท” (Group Rating Methodology) ฉบับล่าสุด  

  1. อันดับเครดิตตราสารหนี้ (ISSUE RATING) 

ยกเว้นในกรณีที่บริษัทมีความเสี่ยงด้านการเงินที่อยู่ในระดับต่ำ เช่น มีอัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่าย (Debt to EBITDA Ratio) โดยเฉลี่ยน้อยกว่า 4.5 เท่า ทริสเรทติ้งอาจกำหนดให้อันดับเครดิตตราสารหนี้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันของบริษัทอยู่ในระดับต่ำกว่าอันดับเครดิตองค์กร 1 ขั้นหากบริษัทมีสัดส่วนของหนี้ที่มีหลักประกันสูงกว่า 35% ของมูลค่าตลาดของสินทรัพย์ ในกรณีที่บริษัทไม่มีมูลค่าตลาดของสินทรัพย์ ทริสเรทติ้งอาจจะมีการปรับปรุงอัตราส่วนดังกล่าวเป็นกรณีๆ ไป

          © บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด สงวนลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2564 ห้ามมิให้บุคคลใด ใช้ เปิดเผย ทำสำเนาเผยแพร่ แจกจ่าย หรือเก็บไว้เพื่อใช้ในภายหลังเพื่อประโยชน์ใดๆ ซึ่งรายงานหรือข้อมูลการจัดอันดับเครดิต ไม่ว่าทั้งหมดหรือเพียงบางส่วน และไม่ว่าในรูปแบบ หรือลักษณะใดๆ หรือด้วยวิธีการใดๆ โดยที่ยังไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษรจาก บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ก่อน การจัดอันดับเครดิตนี้มิใช่คำแถลงข้อเท็จจริง หรือคำเสนอแนะให้ซื้อ ขาย หรือถือตราสารหนี้ใดๆ แต่เป็นเพียงความเห็นเกี่ยวกับความเสี่ยงหรือความน่าเชื่อถือของตราสารหนี้นั้นๆ หรือของบริษัทนั้นๆ โดยเฉพาะ ความเห็นที่ระบุในการจัดอันดับเครดิตนี้มิได้เป็นคำแนะนำเกี่ยวกับการลงทุน หรือคำแนะนำในลักษณะอื่นใด การจัดอันดับและข้อมูลที่ปรากฏในรายงานใดๆ ที่จัดทำ หรือพิมพ์เผยแพร่โดย บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ได้จัดทำขึ้นโดยมิได้คำนึงถึงความต้องการด้านการเงิน พฤติการณ์ ความรู้ และวัตถุประสงค์ของผู้รับข้อมูลรายใดรายหนึ่ง ดังนั้น ผู้รับข้อมูลควรประเมินความเหมาะสมของข้อมูลดังกล่าวก่อนตัดสินใจลงทุน บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ได้รับข้อมูลที่ใช้สำหรับการจัดอันดับเครดิตนี้จากบริษัทและแหล่งข้อมูลอื่นๆ ที่เชื่อว่าเชื่อถือได้

      ดังนั้น บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด จึงไม่รับประกันความถูกต้อง ความเพียงพอ หรือความครบถ้วนสมบูรณ์ของข้อมูลใดๆ ดังกล่าว และจะไม่รับผิดชอบต่อความสูญเสีย หรือความเสียหายใดๆ อันเกิดจากความไม่ถูกต้อง ความไม่เพียงพอ หรือความไม่ครบถ้วนสมบูรณ์นั้น และจะไม่รับผิดชอบต่อข้อผิดพลาด หรือการละเว้นผลที่ได้รับหรือการกระทำใดๆโดยอาศัยข้อมูลดังกล่าว ทั้งนี้ รายละเอียดของวิธีการจัดอันดับเครดิตของ บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด เผยแพร่อยู่บน Website: www.trisrating.com/th/rating-information/rating-criteria

บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด 

โทร. 0-2098-3000 อาคารสีลมคอมเพล็กซ์ ชั้น 24 191 ถ. สีลม กรุงเทพฯ 10500, www.trisrating.com

ติดต่อ:

จุฑามาส บุณยวานิชกุล

This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.

ศศิพร วัชโรทัย

This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.

วิยดา ประทุมสุวรรณ์, CFA

This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.

ธิติ การุณยานนท์, Ph.D., CFA

This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.

สุชาดา พันธุ, Ph.D.

This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.

                                                                                                                                         

ooKbee1

corehoon NEW2

 

 

ข่าวล่าสุด!!